วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การหนีเพลิงไหม้ในอาคารสูง

การหนีเพลิงไหม้ในอาคารสูง


1.โดยปกติ อาคารสูง คอนโดมิเนียม โรงแรม ได้ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ ก่อนเข้าไปพักอาศัย หรือจองห้องพักโรงแรม ให้สอบถามว่ามีเครื่องป้องกันควันไฟ และอุปกรณ์น้ำฉีดอัตโนมัติ บนเพดานหรือไม่ เมื่อเข้าอยู่อาศัย ให้อ่านคำแนะนำ เกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ และการหนีเพลิงไหม้

 2.หาทางออกฉุกเฉินสองทาง ที่ใกล้ห้องพัก ตรวจสอบดูว่าทางหนีฉุกเฉินไม่ปิด ล๊อคตาย หรือสีสิ่งกีดขวาง ให้นับจำนวนประตูห้อง โดยเริ่มจากห้องท่าน สู่ทางหนีฉุกเฉินทั้งสองทาง ดังนั้นท่านจะไปถึงทางหนีฉุกเฉินได้ ถึงแม้ว่าไฟจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน

 3.เรียนรู้ และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู และเปิดประตูได้ภายในความมือ วางกุญแจห้องพัก และไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอน ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ

 4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้หากท่านหาพบ จากนั้นหนีลงจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง

 5.หากท่านได้ยินสัญญาณเพลิงไหม้ ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าเพลิงไหม้ที่ใด

6. ถ้าเพลิงไหม้ในห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที ท่านหนีออกมาให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งเพลิงไหม้

 7. ถ้าไฟไม่ได้เกิดขึ้นในห้องพักของท่าน ให้หนีออกจากห้อง ก่อนอื่นให้วางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อย ๆ เปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

 8.หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู ในห้องของท่านอาจจะเป็นที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับท่านในสถานการณ์เช่นนี้ โทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง แจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใด และกำลังตกอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้ หาผ้าเช็ดตัวเปียก ๆ ปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ ส่งสัญญาณของความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ

9. คลานให้ต่ำ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง หากท่านต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ ให้ใช้วิธีคลานหนีไปทางหนีฉุกเฉิน ให้นำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพักได้

10.อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้ ลิฟท์อาจหยุดทำงานที่ชั้นเพลิงไหม้ ให้ใช้บันใดภายในอาคาร

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

แหล่งกำเนิดอัคคีภัย

แหล่งกำเนิดอัคคีภัยเป็นสาเหตุของการจุดติดไฟมีสาเหตุและแหล่งกำเนิดแตกต่างกันไปดังต่อไปนี้
1. อุปกรณ์ไฟฟ้า
2. การสูบบุหรี่หรือการจุดไฟ
3. ความเสียดทานของประกอบของเครื่องจักร เครื่องยนต์
4. เครื่องทำความร้อน
5. วัตถุที่มีผิวร้อนจัด เช่น เหล็กที่ถูกเผา ท่อไอน้ำ
6. เตาเผาซึ่งไม่มีฝาปิดหรือเปลวไฟที่ไม่มีสิ่งปกคลุม
7. การเชื่อมและตัดโลหะ
8. การลุกไหม้ด้วยตัวเอง เกิดจากการสะสมของสารบางชนิด เช่น พวกขยะแห้ง ถ่านหินจะก่อให้เกิดความร้อนขึ้นในตัว ของมันเอง จนกระทั่งถึงจุดติดไฟ
9. เกิดจากการวางเพลิง
10. ประกายไฟที่เกิดจากเครื่องจักรขัดข้อง
11. โลหะหรือวัตถุหลอมเหลว
12. ไฟฟ้าสถิต
13. ปฏิกิริยาของสารเคมีบางชนิด เช่น โซเดียม โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส เมื่อสัมผัสกับน้ำ อากาศ หรือวัสดุอื่นๆ ทำให้เกิด การลุกไหม้ได้
14. สภาพบรรยากาศที่มีสิ่งปนเปื้อนก่อให้เกิดการระเบิดได้
15. จากสาเหตุอื่น ๆ

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

การปฎิบัติตนเมื่อเกิดไฟไหม้

     การปฎิบัติตนเมื่อเกิดไฟไหม้ 



       ผู้อาศัยในแต่ละบ้าน ควรหมั่นตรวจสอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย และติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ้าน ไม่ควรจุดธูปเทียนทิ้งไว้โดย ไม่มีคนดูแล ปิดสวิตซ์ และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังเลิกใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า ป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ที่ทำ ให้เกิดเพลิงไหม้
สำหรับบ้านหรือห้องที่ติดตั้งเหล็กดัดกันขโมยตามประตู หรือหน้าต่าง ควรทำช่องที่สามารถเปิดออกด้วยการไขกุญแจ อย่างน้อย 1 บาน และควรเก็บกุญแจไขเปิดไว้ในที่ซึ่งสามารถหยิบใช้ได้ง่าย ส่วนผู้ที่เข้าไปในอาคารที่ไม่คุ้นเคย ควร สังเกตทางหนีไฟที่อยู่ใกล้ที่สุดอย่างน้อย 2 แห่ง พร้อมกับมองหาตำแหน่งของอุปกรณ์ดับเพลิง กรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ควรตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก และปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

1. ตะโกนหรือส่งสัญญาณแจ้งเหตุให้ผู้อื่นทราบทันที 2. รีบออกจากอาคารอย่างเป็นระเบียบโดยเร็วที่สุด และไม่ควรกลับเข้าไปในอาคารอีก

3. หากต้องอพยพออกจากห้อง ควรใช้มือสัมผัสบริเวณผนังหรืออังใกล้ๆ ลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูง แสดงว่าเกิดเพลิง ไหม้บริเวณใกล้ๆ ห้ามเปิดประตูโดยเด็ดขาด 4. ควรหนีไฟลงด้านล่างของอาคาร โดยใช้บันไดหนีไฟด้านนอกอาคาร เนื่องจากลักษณะบันไดภายในอาคารเป็นเหมือน ช่อง โพรง ที่เสริมให้เปลวไฟพุ่งขึ้น และลุกลามอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าลงทางบันไดไม่ได้ ให้ลงทางหน้าต่าง โดยใช้เชือก หรือผ้ายาวผูกตัวแล้วโหนลงมา ส่วนการกระโดดลงจากอาคาร ควรมีเบาะหรือฟูกที่นอนรองรับ

5. ห้ามใช้ลิฟท์ เพราะขณะเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ลิฟท์ค้าง จะทำให้ด้านในของตัวลิฟท์ไม่มีอากาศ

6. หากเส้นทางหนีไฟเต็มไปด้วยกลุ่มควันให้ใช้ผ้าชุบน้ำมาคลุมตัว และปิดจมูก ป้องกันการสำลักควัน แล้วหมอบคลาน เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านล่าง(เหนือพื้น)

7. ไม่ควรหนีไฟเข้าไปหลบในห้องต่างๆ ที่เป็นจุดอับภายในอาคาร เช่น ห้องน้ำ ที่แม้ในช่วงแรกจะปลอดภัย แต่เมื่อไฟ ลุกลาม น้ำที่อยู่ในห้องอาจไม่เพียงพอสำหรับดับไฟ และความร้อนของไฟจะส่งผลให้น้ำมีความร้อนสูงขึ้นจนสามารถลวก ให้เสียชีวิตได้

8. กรณีติดอยู่ในห้องที่ไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ ให้ปิดประตูหน้าต่าง ใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องว่างทั้งหมดป้องกัน ควันลอยเข้าไป และรีบส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น โทรศัพท์ โบกผ้า หรือเป่านกหวีด

9. หากถูกไฟไหม้ติดตัว อย่าใช้มือตบไฟ เพราะจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น ให้ถอดเสื้อผ้าออกทันที แล้วล้มตัวลงที่พื้น กลิ้ง ตัวไปมาเพื่อดับไฟ กรณีที่ไฟไหม้ร่างกายผู้อื่นให้ใช้ผ้าห่มพันตัวหลายๆ ชั้นจนกว่าไฟจะดับแล้วใช้น้ำราดตัว แล้วห่มด้วย ผ้าแห้ง

10. ถ้าจำเป็นต้องวิ่งฝ่าเปลวไฟให้ใช้ผ้าชุบน้ำจนเปียกคลุมตัวก่อนวิ่งฝ่าออกไป

ทั้งนี้ จงอย่าลืมว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการหนีรอดจากเหตุอัคคีภัย คือ การมีสติเป็นอันดับแรก เพราะจะทำให้คุณสามารถ หนีเอาตัวรอด และช่วยเหลือผู้ร่วมชะตากรรมให้ออกมาจากบริเวณดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

ป้องกันเพลิงไหม้จากก๊าซหุงต้ม

ป้องกันเพลิงไหม้จากก๊าซหุงต้ม

การสังเกตถังก๊าซหุงต้มที่มีคุณภาพ

             มีข้อความ Property of ยี่ห้อสินค้า ประทับตราในเนื้อถังชัดเจน บริเวณหูถัง   มีตราประทับเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสำนักงาน มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประทับที่หูถังอย่างถาวรและชัดเจน   มีชื่อบริษัทผู้ตรวจสอบ ประทับที่บริเวณหูถังอย่างถาวรและชัดเจน   มีเดือน/ ปีที่ตรวจสอบครั้งสุดท้ายถังไม่บุบ ไม่บวม ไม่มีรอยขีดข่วนเป็นรอยลึก ไม่เป็นสนิมผุกร่อน     บอกน้ำหนักถังเปล่า และน้ำหนักบรรจุอย่างชัดเจน  มีซีลผนึกที่วาล์วหัวถังในสภาพสมบูรณ์เรียบร้อย

การติดตั้งก๊าซหุงต้ม
 1.ควรตั้งห่างจากเตาไฟอย่างน้อย 1.5 เมตร
 2.ไม่ควรตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟไว้ใกล้ถังก๊าซ
 3.ตั้งในที่ๆ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือภายนอกอาคารเพื่อความปลอดภัย
 4.ตั้งอยู่ในบริเวณที่เคลื่อนย้ายเข้าออกสะดวก ไม่กีดขวางทางเข้า-ออก
 5.ตั้งถังบนที่ราบและแข็ง
 6.ไม่ตั้งบริเวณที่เปียกชื้น
 7.ไม่ตั้งถังในห้องใต้ดิน แต่หากจำเป็นควรติดตั้งเครื่องเตือนภัยด้วย

วิธีปฏิบัติเมื่อก๊าซรั่ว

          ก๊าซหุงต้มมีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศเมื่อรั่วซึมจะลอยต่ำและไหลไปตามพื้น หากติดไฟจะลุกลามได้(ต่างจากก๊าซธรรมชาติที่เบากว่าอากาศจึงลอยขึ้นสูงและไม่ติดไฟ) ดังนั้นจึงห้ามเปิดหรือปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และห้ามกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดประกายไฟ ปิดวาล์วที่ถังก๊าซและหัวเตาเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศหรือใช้พัดช่วยไล่ก๊าซจากนั้นรีบตรวจหาสาเหตุของการรั่วแล้วรีบทำการแก้ไข หรือแจ้งร้านค้าก๊าซโดยด่วน   กรณีที่ถังก๊าซรั่ว หลังปิดวาล์วแล้วให้ยกถังไปยังที่โล่ง ห้ามกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดประกายไฟ จากนั้นพลิกถังให้จุดที่รั่วอยู่ด้านบน
เพื่อลดการรั่วไหลของก๊าซ
การป้องกันและระงับอัคคีภัย

          หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์และถังก๊าซหุงต้ม ควรมีเครื่องดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงที่เกิดจากก๊าซหุงต้มได้ และติดตั้งในที่สามารถหยิบใช้ได้ง่ายศึกษาวิธีปฏิบัติให้มีความเข้าใจ และหมั่นตรวจสอบเครื่องดับเพลิงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ให้ใช้เครื่องดับเพลิงดังกล่าวเพื่อระงับเหตุทันที

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ

ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ 
(Cardiopulmonary resuscitation : CPR)


    หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ซึ่งสามารถทำได้โดยการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic life support) ได้แก่ การผายปอด และการนวดหัวใจภายนอก

ภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น
             ภาวะหยุดหายใจ (respiratory arrest) และภาวะหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest) - เป็นภาวะที่มีการหยุดการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนเลือด ส่วนมากมักจะพบว่ามีการหยุดหายใจก่อนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น และ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้


สาเหตุของการหยุดหายใจ

            ทางเดินหายใจอุดตันจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ การแขวนคอ การถูกบีบรัดคอ การรัดคอ เป็นต้น ในเด็กเล็กสาเหตุจากการหยุดหายใจที่พบได้มากที่สุดคือ การสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลม เช่น ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เมล็ดถั่ว เป็นต้น
มีการสูดดมสารพิษ แก็สพิษ ควันพิษ
การถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงดูด
การจมน้ำ
การบาดเจ็บที่ทรวงอก ทำให้ทางเดินหายใจได้รับอันตรายและเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บ
โรคระบบประสาท เช่น บาดทะยัก ไขสันหลังอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต
การได้รับสารพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ต่อยบริเวณคอ หน้า ทำให้มีการบวมของเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจและหลอดลมมีการหดเกร็ง
การได้รับยากดศูนย์ควบคุมการหายใจ เช่น มอร์ฟีน ฝิ่น โคเคน บาร์บิทูเรต ฯลฯ
โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน
มีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะหายใจวายจากสาเหตุต่างๆ

 สาเหตุของหัวใจหยุดเต้น

               หัวใจวายจากโรคหัวใจ จากการออกกำลังกายมากเกินปกติ หรือตกใจหรือเสียใจกระทันหัน
มีภาวะช็อคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จากการสูญเสียเลือดมาก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ
ทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
การได้รับยาเกินขนาดหรือการแพ้

ข้อบ่งชี้ในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ

                  ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ โดยที่หัวใจยังคงเต้นอยู่ประมาณ 2-3 นาที ให้ผายปอดทันที จะช่วยป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจนอย่างถาวร
ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นพร้อมกัน ซึ่งเรียกว่า clinical death การช่วยฟื้นคืนชีพทันทีจะช่วยป้องกันการเกิด biological death คือ เนื้อเยื่อโดยเฉพาะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจน
     ระยะเวลาของการเกิด biological death หลังจาก clinical death ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไป มักจะเกิดช่วง 4-6 นาที หลังเกิด clinical death ดังนั้นการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพจึงควรทำภายใน 4 นาที 

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2559

Springkler


Sprinkler
      สปริงเกอร์ คือ อุปกรณ์อย่างหนึ่งในระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วยน้ำ เมื่ออุณหภูมิความร้อนภายในห้องสูงจะทำให้กระเปาะแก้วจะแตกออก แล้วจะมีน้ำฉีดออกมาโดยอัตโนมัติ
กระเปาะแก้วสีแดง ทนอุณหภูมิ 68 องศาเซลเซียส
กระเปาะแก้วสีเหลือง ทนอุณหภูมิ 79 องศาเซลเซียส
กระเปาะแก้วสีเขียว ทนอุณหภูมิ 93-100 องศาเซลเซียส
กระเปาะแก้วสีฟ้า ทนอุณหภูมิ 141 องศาเซลเซียส
กระเปาะแก้วสีม่วง ทนอุณหภูมิ 182 องศาเซลเซียส
กระเปาะแก้วสีดำ ทนอุณหภูมิ 260 องศาเซลเซียส
ซึ่งการติดตั้งก็จะดูอุณหภูมิที่เกิดขึ้นภายในห้อง ก่อนทีจะติดตั้ง


ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

การตรวจสอบถังดับเพลิง ว่าพร้อมใช้งานหรือไม่

การตรวจสอบถังดับเพลิง ว่าพร้อมใช้งานหรือไม่

กรณีมีมาตรวัด ให้ดูเข็มให้ชี้อยู่ในแถบสีเขียว ถ้าเข็มเอียงไปในด้านซ้ายมือ แสดงว่าแรงดันในถังไม่อยู่ใน    สภาพพร้อมใช้สมบูรณ์ ให้รีบดำเนินการนำไปอัดแรงดันเพิ่มเติม 
 หมายเหตุ : ส่วนมากจะเป็นจำพวกถังดับเพลิงประเภทผงเคมีแห้ง และ ประเภทน้ำอัดแรงดัน Pressure GaugePressure Gauge

กรณีไม่มีมาตรวัด  จะเป็นถังดับเพลิงประเภมซีโอทู ให้ใช้การตรวจสอบจากการชั่งน้ำหนักถ้าน้ำหนักลดลงเกิน 
20 % ให้นำไปอัดซีโอทูเพิ่ม

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

การปฐมพยาบาลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

         การปฐมพยาบาลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก        


หลักการปฐมพยาบาลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก
1. หยุดยั้งความร้อนโดยปฏิบัติดังนี้
- ดับไฟด้วยน้ำราด หรือใช้ผ้าหนา ๆ คลุมตัว
- ถอดเสื้อผ้าที่ไฟไหม้ หรือถูกน้ำร้อนพร้อมเครื่องประดับที่อมความร้อนออกให้หมด
2. ตรวจร่างกาย ดูการหายใจ ดังนี้
- การหายใจถ้าพบสิ่งผิดปกติ เช่น เสียงแหบ หายใจผิดปกติ ต้องรีบช่วยหายใจโดยเร็ว
- ชีพจรถ้าเบามากหรือไม่เต้นต้องรีบช่วยนวดหัวใจ
- ถ้าบาดเจ็บมีเลือดออกต้องรีบห้ามเลือดก่อน

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

วิธีใช้ถังดับเพลิง

วิธีใช้ถังดับเพลิง


จะลงมือทำอะไรยิ่งเป็นเหตุฉุกเฉินด้วยแล้วเน้นว่า สติ ต้องมาก่อน วิธีการใช้ถังดับเพลิงชนิดมือถือทุกประเภท ก็มีอยู่ 4 ขั้นตอน คือ

1.ดึง   คือดึกสลักออกจากถังดับเพลิงซึ่งจะมีกระดูกงูล็อคอยู่ถ้าดึงไม่ออกให้ใช้การบิดเเล้วค่อยดึงสลักก็จะหลุดออกมา
2.ปลดคือการปลดสายฉีดของถังดับเพลิงออกโดยจับบริเวณปลายสายฉีดแล้วดึงออกมาจะ   ออกง่ายกว่าจับปริเวณโคนสาย
3.กด   กดคือการกดคันบีบของถังดับเพลิงเพื่อให้เคมีในถังออกมาใช้ในการดับเพลิง
4.ส่าย คือการส่ายปลายสายฉีดไปมาเพื่อดับเพลิง ควรฉีดไปยังฐานของเพลิงหรือต้นเพลิง ไม่ควรฉีดไปบริเวณเปลวเพลิง

ขอบคุณข้อมาจาก สถานีดับเพลิงบ่อนไก่,สถานีดับเพลิงบางเขน,สถานีดับเพลิงสามเสน

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

Flashover

Flashover


ภาพจาก www.ifa-swiss.ch

          Flashover หมายถึง การเปลี่ยนแปลงการเผาไหม้พร้อมกันในทันทีทันใดของไอเชื้อเพลิงภายในอาคารที่มีลักษณะปิดทึบ ทำให้เกิดเปลวไฟการลุกท่วมห้องในชั่วพริบตา  โดยที่ควัน และความร้อนจะถูกสะสมที่ ใต้แนวเพดาน และเมื่ออุณหภูมิจะสูงขึ้น จะเริ่มแผ่รังสีความร้อนลงสู่ด้านล่าง เชื้อเพลิงเกิดขบวนการคายไอ จนทั่วทั้งห้องและ ถึง จุดติดไฟได้ด้วยตัวเอง (Ignition Temperature) จากนั้นก็ลุกติดไฟพร้อมกัน

           Fire gas Ignition เป็นการจุดระเบิดของไฟจากไอระเหย ปฏิกิริยาดังกล่าวโดยมากเิกิดจากสาเหตุการนำพาเปลวไฟไปยังไอระเหยที่มีส่วนผสมของก๊าซอยู่แล้วและส่วยดังกล่าวมีปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอต่อการจุดติดเกิดขึ้น และสภาวะการที่ความร้อนสามารถส่งผ่านจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งได้จนเกิดสภาวะการจุดติด การรั่วไหลของไอระเหย ไอระหยของไฟสามารถไหลผ่านท่ออากาศ ช่องซาร์ฟ ไปยังห้องอื่นได้เช่นกัน ไอระเหยของไฟสามารถสะสมอยู่ทุกที่ของโครงสร้างอาคาร เช่นฝ้าเพดาน ใต้บันได สภาวะเช่นนี้ไม่ต้องการอากาศเข้ามาเติมเพิ่มเพื่อการเผาไหม้ เนื่องจากไฟมีไอระเหยและส่วนผสมที่พร้อมจุดติดหรือระเบิดทันทีที่มีประกายไฟ



วีดีโอขั้นตอนการเกิด Flashover

วีดีโอจาก OakRidgeFD
ขอบคุณข้อมูลจาก สถานีดับเพลิงสามเสน

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

Backdraft

 Backdraft 



การเกิดปรากฎการณ์ เป็นการระเบิดเนื่องจากอากาศวิ่งเข้าหาเชื้อเพลิงที่เป็นไฟหรือควันที่ยังไม่ติดไฟหรือไฟใกล้ดับ ในบางครั้งเรียกว่า smoke explosion ( การระเบิดของควัน ) เป็น ปรากฏการณ์ที่ควันเกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็วและรุนแรงเกิดขึ้นโดยการนำออกซิเจนเข้าไปในห้องหรือบริเวณพื้นที่จำกัดที่มีการเผาไหม้จนออกซิเจนที่มีอยู่ลดน้อยหรือใกล้หมดอย่างฉับพลัน ขณะที่ไฟยังไม่ดับสนิทเพราะมีความร้อนสะสมอยู่เมื่อเปิดห้อง มีช่องให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าทำให้ปัจจัยการเกิดไฟครบสมบูรณ์ เกิดการจุดติดอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน รุนแรง มีขนาดใหญ่เหมือนกับการระเบิด



สิ่งที่บ่งบอกว่ากำลังจะเกิด backdraft 

- ปริมาณควันดำหนาแน่นมาก
- ควันไหลเข้า — ออกตามรอยประตูหน้าต่าง 
- ควันถูกผลักออกด้วยแรงดัน 
- ห้องหรืออาคารที่เกิดเหตุมีลักษณะที่ปิดสนิท ขนาดเล็ก มีช่องระบายอากาศน้อย
- ผนังห้องหรืออาคารมีความร้อนสูง

Pre-Backdraft ก่อนเกิด Backdraft จะสังเกตเห็นควันถูกดูดไหลเข้า — ออก ตามช่องเปิดต่างๆตามกระจกหน้าต่างจะมองเห็นควันดำและในขณะนั้นห้องทั้งห้อง จะเต็มไปด้วยความร้อนคาร์บอนมอนออกไซด์และไอระเหยอื่นๆดังนั้นเมื่อเปิด ประตูเข้าไป ควันภายในจะพุ่งออกมาเนื่องจากภายในมีความดันสูงกว่า อากาศเย็นจากภายนอกจะถูกดูดเข้าไปภายในอาคาร โดยอากาศที่เย็นกว่าจะอยู่ที่บริเวณด้านล่างของห้อง จึงเกิดการผสมระหว่างก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ กับอากาศดีจากภายนอก ( มีออกซิเจน 21 % ) ซึ่งจะค่อยๆไหลเข้าสู่จุดกำเนิดไฟไปแทนอากาศร้อนที่จุดกำเนิดไฟ ทำให้อากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้น เห็นไฟวิ่งอยู่ระดับพื้นต่ำกว่าระดับควัน เมื่อควันลอยสูงขึ้นอีก 1 — 2 นิ้ว ทำให้ CO และ O2 ผสมกันมากขึ้นซึ่งเมื่อผสม ( ที่ CO 14.5 — 74% ) นี้ไหลไปถึงเปลวไฟ ทำให้องค์ประกอบไฟครบ 3 อย่าง ทำให้เกิดการจุดติดขึ้นมาการลุกไหม้จะเริ่มที่ฐานของไฟใต้ควันแล้วย้อนกลับ ไปตามทิศทางที่อากาศเข้ามา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเร็วมากเสมือนการระเบิด การเผาไหม้ทำให้เกิดความร้อนทำให้อากาศเกิดการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วความดันสูงนี้อาจทำให้กระจกหน้าต่างแตก ผนังล้ม ความรุนแรงของการระเบิด backdraft จึงขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง

ชั้นของความร้อน Thermal Layers ในห้องที่กำลังลุกไหม้นั้นก่อนที่จะเกิดปรากฎการณ์ทั้ง Flashoverและ ฺBackdraft จะมีชั้นของความร้อนแฝงอยู่โดยแยกตามความร้อนผลผลิตจากการเผาไหม้ เปลวไฟ ก๊าซ เขม่า ซึ่งก็แบ่งได้ 3 ชั้น คือ

1.ชั้นความร้อนสูงสุด Extreme Heat

2.ชั้นความร้อนปานกลาง  Moderate Heat

3.ชั้นความร้อนต่ำ Low Heat

แต่ทั้งสองปรากฎการณ์มีผลอันตรายกับตัวเจ้าหน้าที่ดับเพลิงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่มีการสังเกตุและเข้าใจขบวนการลุกไหม้ของเชื้อเพลิงว่าการลุกไหม้ของเชื้อเพลิงอยู่ในช่วงใด ลักษณะโครงสร้างอาคาร สิ่งแวดล้อมโดยรอบ


     ขอบคุณข้อมูลจาก สถานีดับเพลิงสามเสน

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

การแผ่รังสีความร้อน

การแผ่รังสีความร้อน



การแผ่รังสีความร้อน เป็นการถ่ายเทความร้อนออกรอบตัวทุกทิศทุกทาง โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการส่งถ่ายพลังงาน ซึ่งเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จะมีการแผ่รังสีความร้อนออกรอบทุกทิศทาง ทำให้อาคารบ้านเรือนประชาชนรอบข้างที่มีเชื้อเพลิง(ตู้ เตียง เสื้อผ้า วอลเปเปอร์)เกิดการสะสมความร้อนจนทำให้เกิดการจุดติดของไฟโดย ไม่จำเป็นต้องมีเปลวไฟก็สามารถติดต่อลุกลามได้
#ไฟไหม้บ้านตรงข้ามสามารถลุกลามบ้านเราได้
#องค์ประกอบของไฟ #ความร้อน #เชื้องเพลิง#ออกซิเจน

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประเภทของถังดับเพลิง


ประเถทของถังดับเพลิง

          1.ชนิดเคมีแห้ง (Dry Chemical )

              
          ถังดับเพลิงผงเคมีแห้งลักษณะเป็นผง  บรรจุในถังสีแดง ขบวนการทำงานของถังดับเพลิงผงเคมีแห้งคือ ผงเคมีจะถูกดันออกไป เพื่อคลุมไฟทำให้อับอากาศ  ใช้ในเพลิงไหม้ประเภท A B C

       

          2.ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2)

          บรรจุในถังแดง ต่างประเทศบรรจุในถังสีดำ ภายในบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในถังที่ทนแรงดันสูงประมาณ 800 – 1200 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว ซึ่ง ตัวถังดับเพลิงจะหนักและหนากว่าถังดับเพลิง   ประเภทอื่น ๆ ที่ปลายสายฉีดจะมีลักษณะเป็นกรวยทรงกระบอก  คาร์บอนไดออกไซด์จะทำหน้าที่ในกาดับเพลิงโดยคลุมดับและการตัดออกซิเจน ใช้ในเพลิงไหม้ประเภท  B C


          3.ชนิดสารเหลวระเหยหรือ Halonite (NON-CFC Fire Extinguisher)

          เป็น เครื่องดับเพลิง ชนิดยกหิ้ว สีเขียว บรรจุน้ำยาดับเพลิงสารเหลวระเหย ที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น  ไม่ติดไฟ ไม่เป็นสื่อในการนำไฟฟ้า เมื่อฉีดออกจะเป็นไอสีขาวและระเหยไปเอง โดยไม่ทำให้วัสดุ-อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย และไม่ทำให้เกิดความสกปรกต่อบริเวณที่มีการใช้งาน ใช้ในเพลิงไหม้ประเภท  A B C


          4.ชนิดโฟม (Foam Fire Extinguisher)



          โฟมเข้มข้น AFFF กับน้ำ เมื่อผสมกันแล้วผสมกับอากาศในปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสมแล้วถ้าฉีดออกมาภายใต้แรงดันจะเกิดปฎิกิริยาเป็นฟองโฟมสีขาว ใช้ในเพลิงไหม้ประเภท A B   


          5.ชนิดเคมีเหลว (Water Mist)

ถังดับเพลิงประเภท Water Mist หรือเคมีเหลวเป็นสารดับเพลิงชนิด AR AFFF โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน  UL CLASSSIFY จากประเทศสหรัฐอเมริกา สารดับเพลิงฉีดตัวออกมาในลักษณะเป็นละออง เพื่อไม่ให้เกิดการนำไฟฟ้า ใช้ในเพลิงไหม้ประเภท A, B, C,K ได้โดยไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ 

          6.ชนิดน้ำ (Water)

          ถังดับเพลิงประเภท Water หรือน้ำอัดแรงดันตัวถังเป็นสแตนเลส มีน้ำหนักเบา สะดวกต่อการใช้งาน ได้เป็นอย่างดี ฉีดได้ในระยะไกล ใช้ในเพลิงไหม้ประเภท A


วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประเภทของไฟ ?



ประเภทของไฟแบ่งได้ 5 ประเภท(ตามมาตรฐาน NFPA 10)





1.   ไฟประเภท A    สัญญลักษณ์ ตัวอักษร A  อยู่ในรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า พื้นสีเขียว ตัวอักษร สีดำ
              สัญญลักษณ์ที่เป็น รูปภาพ  จะเป็นรูปถังขยะ และท่อนไม้ที่ติดไฟ (ตามรูปที่แนบ)
              เป็นไฟที่ เกิดจากเชื้อเพลิง  ไม้  กระดาษ  ผ้า  ยาง  และ พลาสติก
           
2.  ไฟประเภท B  สัญญลักษณ์  ตัวอักษร B  อยู่ในรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า  พื้นสีแดง ตัวอักษรสีดำ
              สัญญลักษณ์ที่เป็นรูปภาพ  จะเป็นรูป ถังใส่น้ำมัน ที่ติดไฟ (ตามรูปที่แนบ)
              เป็นไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงเหลวติดไฟ   น้ำมันเบนซิน,  น้ำมันดีเซล,  สี,   สารละลาย  
             
3.  ไฟประเภท C  สัญญลักษณ์  ตัวอักษร  C  อยู่ในรูปวงกลม   พื้นสีฟ้า  ตัวอักษรสีดำ
              สัญญลักษณ์ที่เป็นรูปภาพ  จะเป็นรูป ปลั๊กไฟที่ลุกติดไฟ เป็นไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีกระแส                ไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร
           
4.  ไฟประเภท D   สัญญลักษณ์  ตัวอักษร  D  อยู่ในรูปดาวห้าแฉก  พื้นสีเหลือง ตัวอักษรสีดำ
            สัญญลักษณ์ที่เป็นรูปภาพ  จะเป็นรูป เฟืองโลหะติดไฟ
            เป็นไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็น โลหะลุกติดไฟ เช่น ปุ๋ยยูเรีย,ผงแมกนิเซียม,ผงอลูมิเนียม
5.  ไฟประเภท K   สัญญลักษณ์  ตัวอักษร  K   อยุ่ในรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า  พื้นสีดำ ตัวอักษรสีขาว
            สัญญลักษณ์ที่เป็นรูปภาพ  จะเป็นรูป กะทะทำอาหารที่ลุกติดไฟ
            เป็นไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงน้ำมันทำอาหาร   น้ำมันพืช,  น้ำมันจากสัตว์  และไขมัน

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เพลิงไหม้คืออะไร ?

                
               เพลิงไหม้ หมายถึง อันตรายที่เกิดจากไฟที่ขาดการควบคุมดูแล ทำให้เกิดการติดต่อลุกลามไปตามบริเวณที่มีเชื้อเพลิงเกิดการลุกไหม้ต่อเนื่อง ไฟจะรุนแรงขึ้นถ้าการลุกไหม้ที่มีเชื้อเพลิงจำนวนมากจะสร้างความสูญเสียให้ทรัพย์สินและชีวิต
            
             ทฤษฏีการเกิดเพลิงไหม้
                           การสันดาปหรือการเผาไหม้ คือปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากการรวมตัวของเชื้อเพลิงกับออกซิเจน ซึ่งเป็นผลให้เกิดความร้อนและแสงสว่าง ไฟจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 อย่าง เรียกว่า ทฤษฏีสามเหลี่ยมของไฟ ประกอบด้วย 
                                                1.ออกซิเจน 
                                                2.ความร้อน 
                                                3.ออกซิเจน


ภาพจาก www.imperial.co.th

เมื่อองค์ประกอบทั้ง 3 ครบและความร้อนถึงจุดติดไฟ ก็จะทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ถ้าหากไม่ได้รับการป้องกันเบื้อต้นที่ทันท่วงทีจะทำให้เกิดเพลิงไหม้รายใหญ่และเกิดการสูญเสียทั้งทรัพย์สินและอาจถึงชีวิตได้  


เขียนโดย นายชาคริต รุ่นเจริญ 
               นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศฯ
              มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลกรุงเทพ
              อาสาสมัครหน่วยบรรเทาสาธารณภัยใต้36-25